ประวัติมวยไทย ตั้งแต่ สุโขทัย กรุงศรีอยุธยา จนถึง รัตนโกสินทร์
ประวัติมวยไทย ประวัติศาสตร์อันยาวนานของมวยไทย เริ่มมีและใช้กันในการสงครามในสมัยก่อน ในปัจจุบัน มีการดัดแปลงมวยไทยมาใช้ในกองทัพโดยเรียกว่า
“เลิศฤทธิ์” ซึ่งแตกต่างจากมวยไทยในปัจจุบันที่ใช้เป็นการกีฬา โดยมีการใช้นวมขึ้นเพื่อป้องกันการอันตรายที่เกิดขึ้น มวยไทยยังคงได้ชื่อว่า ศาสตร์การโจมตี
ทั้งแปด ซึ่งรวม สองมือ สองเท้า สองศอก และสองเข่า (บางตำราอาจเป็น นวอาวุธ ซึ่งรวมการใช้ศีรษะโจมตี หรือ ทศอาวุธ ซึ่งรวมการใช้บั้นท้ายกระแทกโจมตี
ด้วย) มวยไทยสืบทอดมาจาก มวยโบราณ ซึ่งแบ่งออกเป็นแต่ละสายตามท้องที่นั้น ๆ โดยมีสายสำคัญหลัก ๆ เช่น มวยท่าเสา (ภาคเหนือ) มวยโคราช (ภาคอีสาน)
มวยไชยา (ภาคใต้) มวยลพบุรีและมวยพระนคร (ภาคกลาง) มวยพลศึกษามีคำกล่าวไว้ว่า “หมัดดีโคราช ฉลาดลพบุรี ท่าดีไชยา ไวกว่าท่าเสา ครบเครื่องพลศึกษา”
ประวัติมวยไทยสมัยกรุงสุโขทัย (ประมาณช่วงระหว่าง ปี พ.ศ. 1781-1918)
สมัยกรุงสุโขทัย มวยไทยถือเป็นศาสตร์ชั้นสูงที่ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาของกษัตริย์ เพื่อฝึกให้กษัตริย์เป็นนักรบที่มีความกล้าหาญ มีสมรรถภาพร่างกาย
ที่ดีเยี่ยม ดังความปรากฏตามพงศาวดารว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงส่งเจ้าชายร่วงโอรสองค์ที่สองไปฝึกมวยไทยที่สำนักสมอคอน แขวงเมืองลพบุรี หรือการที่
พ่อขุนรามคำแหงทรงนิพนธ์ตำหรับพิชัยสงคราม โดยมีความข้อความบางตอนกล่าวถึงมวยไทย ควบคู่ไปกับการใช้อาวุธอย่างดาบ หอก มีด โล่ หรือธนูอีกด้วย
ประวัติมวยไทย สมัยกรุงศรีอยุธยา (ประมาณช่วงระหว่าง ปี พ.ศ. 1893 – 2310)
สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2147 – 2233) ยุคนี้บ้านเมืองสงบร่มเย็นและเจริญรุ่งเรือง พระองค์ทรงให้การสนับสนุนและส่งเสริมการกีฬาอย่างกว้างขวาง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งมวยไทยที่นิยมกันจนกลายเป็นอาชีพ และมีค่ายมวยต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย มวยไทยสมัยนี้ชกกันบนลานดิน โดยใช้เชือกเส้นเดียวกั้นบริเวณเป็น
สี่เหลี่ยมจัตุรัส นักมวยจะใช้ด้ายดิบชุบแป้งหรือน้ำมันดินจนแข็งพันมือ เรียกว่า มวยคาดเชือก นิยมสวมมงคลไว้ที่ศีรษะ และผูกประเจียดไว้ที่ต้นแขนตลอดการแข่งขัน
การเปรียบคู่ชกนั้นเอาความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย ไม่ได้กำหนดขนาดรูปร่างหรืออายุ โดยมีกติกาง่าย ๆ ว่าชกจนกว่าอีกฝ่ายจะยอมแพ้
ประวัติมวยไทยสมัยกรุงธนบุรี (ประมาณช่วงระหว่าง ปี พ.ศ. 2310 – 2325)
ตลอดระยะเวลา 14 ปีของกรุงธนบุรี (พ.ศ. 2310 – 2324) บ้านเมืองซึ่งอยู่ในช่วงฟื้นฟูหลังจากพระเจ้าตากสินกอบกู้อิสรภาพคืนมาได้ การฝึกมวยไทยในสมัยนี้จึง
ฝึกเพื่อราชการทหารและสงครามอย่างแท้จริง การจัดชกมวยในสมัยกรุงธนบุรีนิยมนำนักมวยต่างถิ่นหรือศิษย์ต่างครูมาชกกัน โดยไม่มีกฎกติกาการแข่งขันอย่าง
เป็นรูปธรรมและไม่มีการกำหนดคะแนน จะทำการชกกันจนกว่าอีกฝ่ายจะยอมแพ้ บนสังเวียนซึ่งเป็นลานดินบริเวณวัด คาดมงคลและนิยมผูกประเจียดเช่นเดิม
ประวัติมวยไทย สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (ประมาณช่วงระหว่าง ปี พ.ศ. 2325 – ปัจจุบัน)
ประวัติมวยไทยสมัยรัชกาลที่ 1
พระองค์ทรงฝึกหัดมวยไทยมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และทรงสนพระทัยในการเสด็จทอดพระเนตรการแข่งขันชกมวยไทยอยู่เสมอ ในปี พ.ศ.๒๓๓๑ พ่อค้า
ชาวฝรั่งเศสสองพี่น้องเดินทางไปค้าขายทั่วโลกด้วยเรือกำบั่น คนน้องเป็นนักมวยฝีมือดี เที่ยวพนันชกมวยมาหลายเมือง เมื่อเดินทางมาถึงกรุงเทพมหานคร
จึงได้ล่ามกราบเรียนพระยาพระคลัง ขอชกมวยพนันกับคนไทยพระยาพระคลังได้นำความขึ้นกราบทูลรัชกาลที่ ๑ พระองค์ทรงตรัสปรึกษากับกรมพระราชวัง
บวรพระอนุชา ซึ่งเป็นผู้มีฝีมือมวยไทย และคุมกรมมวยหลวงอยู่ในขณะนั้น รับตกลงพนันกันเป็นเงิน ๕๐ ชั่ง
กรมพระราชวังบวรคัดเลือก ทนายเลือกวังหน้าฝีมือดี ชื่อหมื่นผลาญต่อสู้กับนักมวยฝรั่งเศสครั้งนี้ สังเวียนการแข่งขันจัดสร้างขึ้นที่สนามหลังวัดพระแก้ว
โดยใช้เชือกเส้นเดียวผูกกับเสา ๔ ต้น สูงประมาณ ๗๐ เซนติเมตร ขึงกั้นบริเวณเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณด้านละ ๒๐ เมตร ด้านหน้าปลูกพลับพลา
ที่ประทับ กติกาการแข่งขันไม่มีการให้คะแนน ชกกันจนกว่าจะแพ้ชนะกันโดยเด็ดขาด เมื่อใกล้เวลาชกทรงตรัสสั่งให้แต่งตัวหมื่นผลาญ ด้วยการชโลมน้ำมัน
ว่านยาตามร่างกาย ผูกประเจียดเครื่องรางที่ต้นแขน แล้วให้ขี่คอคนมาส่งถึงสังเวียนเมือการแข่งขันเริ่มขึ้น ฝรั่งได้เปรียบรูปร่างเข้าประชิดตัว พยายามจะปล้ำ
เพื่อหักคอและไหปลาร้า หมื่นผลาญพยายามปิดป้อง ปัดเปิด สลับกับเตะถีบชิงต่อยแล้วถอยวนหนียิ่งชกนานฝรั่งยิ่งเสียเปรียบเพราะทำอะไรไม่ได้ ฝรั่งพี่ชาย
เห็นว่าถ้าชกต่อไปน้องชายคงเสียเปรียบแน่จึงตัดสินใจกระโดดเข้าไปขวางกั้นไม่ให้หมื่นผลาญถอยหนี การกระทำเหมือนช่วยกันจึงเกิดมวยหมู่ระหว่างพวก
ฝรั่งกับพวกทนายเลือก ฝรั่งบาดเจ็บหลายคน รัชกาลที่ 1 พระราชทานหมอยาหมอนวดไปรักษาพยาบาล เมื่อหายดีแล้วฝรั่งเศสสองพี่น้องก็ออกเรือกลับไป
ประวัติมวยไทย สมัยรัชกาลที่ 2
สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พ.ศ.2352-2367) เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงฝึกมวยไทยที่สำนักวัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม)
จากสมเด็จพระวันตัต (ทองอยู่) ซึ่งเคยเป็นแม่ทัพเก่า ครั้นเมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุได้ 16 พรรษาก็เสร็จมาประทับในพระราชวังเดิม และทรงฝึกมวยไทย
เพิ่มเติมจากทนายเลือก อีกทั้งยังโปรดให้สร้างสนามมวยไว้ที่สนามหญ้าบริเวณวังหลัง พร้อมทั้งเปลี่ยนคำว่า รำหมัด เป็นมวยไทย อีกด้วย
ประวัติมวยไทยสมัยรัชกาลที่ 3
สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2367-2394) ในสมัยนี้ตามหัวเมืองต่าง ๆ ประชาชนก็ยังคง นิยมฝึกมวยไทยและกระบี่กระบองกันอยู่ ด้วยเหตุนี้เอง
ที่ทำให้ท้าว สุรนารี หรือคุณหญิงโม ภรรยาเจ้าเมืองโคราช สามารถ คุมทัพต่อสู้เอาชนะ เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ได้
ประวัติมวยไทย สมัยรัชกาลที่ 4
สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2394-2411) เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงแต่งองค์อย่าง กุมารชกมวยไทย และรำกระบี่กระบองแสดงในงาน
สมโภชพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามสมัยนี้เป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ ของอารยะธรรมตะวันตกที่เริ่มแพร่หลายมาในประเทศไทยทว่ามวยไทยก็ยังคงเป็นกีฬาประจำชาติอยู่
ประวัติมวยไทยสมัยรัชกาลที่ 5
พระองค์ทรงฝึกมวยไทยจากสำนักมวยหลวง ซึ่งมีปรมาจารย์หลวงพลโยธานุโยค ครูมวยหลวงเป็นผู้ถวายการสอน ทำให้พระองค์โปรดกีฬามวยไทยมาก เสด็จทอดพระเนตรการชกมวยหน้าพระที่นั่ง ทรงโปรดให้ข้าหลวงหัวเมืองต่างๆ คัดนักมวยฝีมือดีมาชกกันหน้าพระที่นั่งเพื่อหานักมวยที่เก่งที่สุดเข้าเป็นทหารรักษาพระองค์ สังกัดกรมมวยหลวง พระองค์ทรงเห็นคุณค่าของกีฬาประจำชาติ จึงตรัสให้มีการแข่งขันมวยไทยขึ้นทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความนิยมกีฬามวยไทยมากขึ้น นอกจากนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้มี “มวยหลวง” ตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ฝึกสอน จัดการแข่งขัน และควบคุมการแข่งขันมวยไทย ปี พ.ศ.2430 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งกรมศึกษาธิการขึ้น ให้มวยไทยเป็นวิชาหนึ่งในหลักสูตรของโรงเรียนครูฝึกหัดพลคึกษา และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในสมัยนี้เป็นที่ยอมรับว่า คือ ยุคทองของมวยไทย
ประวัติมวยไทย สมัยรัชกาลที่ 6
สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2453-2468) ระหว่างปี พ.ศ. 2457-2461 ประเทศไทยได้ส่งทหารเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 ณ เมืองมาเซย์ ประเทศฝรั่งเศส โดยมีพลโทพระยาเทพหัสดินเป็นแม่ทัพ ในการนี้ท่านได้จัดแสดงมวยไทย ให้บรรดาทหารและประชาชนชาวยุโรปได้ชม นับเป็นครั้งแรกที่มวยไทยได้เผยแพร่ในทวีปยุโรป ต่อมาในปี พ.ศ.2464 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 กีฬามวยไทยก็ยังคงเป็นที่นิยมของประชาชนอย่างไม่เสื่อมคลาย และยุคนี้ก็ได้มีสนามมวยถาวรแห่งแรกที่จัดการแข่งขันมวยไทยเป็นประจำนั่นคือบนสนามฟุตบอลภายในโรงเรียนสวนกุหลาบ จึงเรียกยุคนี้ว่า “สมัยสวนกุหลาบ”
ประวัติมวยไทยสมัยรัชกาลที่ 7
สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2468-2477) ระหว่างปี พ.ศ. 2466 – 2472 พลโทพระยาเทพหัสดินได้สร้างสนามมวยหลักเมืองท่าช้างขึ้น บริเวณโรงละครแห่งชาติ ในปัจจุบัน โดยลักษณะของเวทีมีเชือกกั้นเส้นใหญ่ขึ้นและแต่ละเส้นขึงตึงเป็นเส้นเดียวไม่เปิดช่องตรงมุม สำหรับขึ้นลงอย่างในยุคเก่าเพื่อป้องกันมิให้นักมวยตกเวทีตรงช่องดังกล่าว ต่อมาในปี พ.ศ.2472 รัฐบาลได้มีคำสั่งให้ยกเลิกมวยคาดเชือกลุมพินีร่วมกับมหรสพอื่นๆ โดยคัดเลือกเอานักมวยไทยฝีมือดีมาชกกันทุกวันเสาร์ และมีการสร้างเวทีมวยขึ้นตามอย่างมาตรฐานสากล คือ มีเชือกกั้นสามเส้น ใช้ผ้าใบปูพื้น มีมุมแดงมุมน้ำเงิน มีผู้ตัดสินให้คะแนน 2 คน และผู้ตัดสินชี้ขาดการแข่งขันบนเวทีอีก 1 คน โดยกำหนดให้ใช้เสียงระฆัง เป็นสัญญาณด้วยระฆังเป็นครั้งแรก
ประวัติมวยไทย สมัยรัชกาลที่ 8
สมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล (พ.ศ.2477 – 2489) ระหว่างปี พ.ศ.2478 2484 คหบดีผู้มีชื่อเสียงในสมัยนั้นได้สร้างเวทีมวยขึ้นบริเวณที่ดินของเจ้าเชต ชื่อ สนามมวยสวนเจ้าเชต ปัจจุบันคือที่ตั้งกรมรักษาดินแดน การดำเนินการจัดการแข่งขันเป็นไปด้วยดี เนื่องจากทหารเข้ามาควบคุม เพื่อนำรายได้ไปบำรุงกิจการทหาร จัดการแข่งขันกันติดต่อหลายปี จึงเลิกไปเพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังจะสงบแต่ยังคงมีเครื่องบินข้าศึกบินลาดตระเวนอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน จำเป็นต้องจัดการแข่งขันชกมวยไทยตามโรงภาพยนตร์ต่างๆ ในเวลากลางวัน เช่น สนามมวยพัฒนาการ สนามมวยท่าพระจันทร์ สนามมวยวงเวียนใหญ่ เนื่องจากประชนยังคงให้ความสนใจมวยไทยอยู่
ประวัติมวยไทยสมัยรัชกาลที่ 9
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พ.ศ. 2489-ปัจจุบัน) วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2488 สนามมวยเวทีราชดำเนินได้เปิดสนามทำการแข่งขันครั้งแรก มีนายปราโมทย์ พึ่งสุนทร เป็นนายสนามมวยคนแรก พระยาจินดารักษ์เป็นกรรมการบริหารเวที ครูชิต อัมพลสิน เป็นโปรโมเตอร์ จัดชกเป็นประจำในวันอาทิตย์เวลา 16.00 – 17.00 น. ใช้กติกาของกรมพลศึกษา ปี พ.ศ.2480 ชก 5 ยกๆ ละ 3 นาที พักระหว่างยก 2 นาที ในระยะแรกชั่ง น้ำหนักตัวนักมวยด้วยมาตราส่วนเป็นสโตนเหมือนน้ำหนักม้าอีก 2 ปีต่อมา จึงเปลี่ยนเป็นกิโลกรัม และปี พ.ศ.2494 สนามมวยเวทีราชดำเนินได้เริ่มก่อสร้างหลังคาอย่างถาวร
ประวัติมวยไทย ความเป็นมากีฬามวยไทย
มวยไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
มวยไทยเป็นมรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของชนชาติไทยมาตั้งแต่ครั้งโบราณ เป็นการใช้อาวุธของร่างกาย 9 อย่าง หรือที่เรียกว่า นวอาวุธ ได้แก่ มือ 2 เท้า 2 เข่า 2 ศอก 2 และศีรษะ 1 อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นศิลปะการต่อสู้ที่เก่าแก่ประเภทหนึ่งของโลก
มวยไทยเป็นศิลปะการป้องกันตัวและเป็นศาสตร์ที่ชายชาติทหารจะต้องฝึกให้คล่องแคล่ว ดังคำกล่าวที่ว่ามวยนั้นเป็นมูลบทของวิชายุทธ์ เพลงอาวุธเป็นมัธยม และพิชัยสงครามเป็นมงกุฎ
มวยไทยเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการใช้อุบาย ชั้นเชิง ไหวพริบ และวิชาเข้าต่อสู้กัน จึงปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารว่า ในอดีต พระมหากษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถจะทรงเชี่ยวชาญการชกมวยเป็นอย่างยิ่งขณะเดียวกัน เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ขุนนางฝ่ายทหาร และสามัญชนจะฝึกฝนมวยไทยเพื่อป้องกันตัวและชาติบ้านเมืองเพราะการใช้อาวุธ เช่น กระบี่ กระบอง พลอง ดาบ ง้าว ทวน ประกอบกับมวยไทย จะทำให้การใช้อาวุธนั้นเกิดประสิทธิภาพสงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการต่อสู้ป้องกันตัวในระยะประชิด ในยามสงบ มวยไทยจะเป็นการประลองพละกำลังและชั้นเชิงการต่อสู้จนกลายเป็นกิจกรรมทางสังคมมีการแข่งขันมวยในโอกาสสำคัญๆ ดังปรากฏในกฎหมายตราสามดวง หมวดอัยการเบ็ดเสร็จที่กล่าวถึงการชกมวยไว้ว่า “…117 มาตราที่หนึ่ง ชนทังสองเปนเอกจิตเอกฉันท์ ตีมวยด้วยกันก็ดี แลปล ้ากันก็ดี และผู้หนึ่งต้องเจ็บปวดด้วยก็ดี ค่นหักถึงแก่มรณภาพก็ดีท่านว่าหาโทษมิได้…”
มวยไทยจึงมีความสำคัญทั้งต่อบุคคล ชุมชน สังคม และประเทศชาติ มีส่วนสำคัญยิ่งในการดำรงเอกราชของชาติไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
เอกลักษณ์ของมวยไทย ผสานชั้นเชิงกับร่างกายให้เป็นอาวุธ
เอกลักษณ์ของมวยไทยที่ทำให้มวยไทยมีความโดดเด่นและถือเป็นศิลปะชั้นสูงคือการใช้อวัยวะต่างๆ เป็นประดุจดังเกราะและอาวุธ ใช้ชั้นเชิงไหวพริบและวิชาเข้าต่อสู้กัน ไม่ใช่กำลังแต่เพียงอย่างเดียว กอปรด้วย “ศาสตร์” อันได้แก่การเรียนรู้จุดอ่อน จุดแข็งของร่างกายที่จะพิชิตและเอาชนะคู่ต่อสู้ “ศิลป์” คือ ลักษณะการใช้นวอาวุธอันมีรายละเอียดปลีกย่อยอย่างพิสดาร ทำให้มวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีมนต์ขลังและเป็นการต่อสู้ที่มีชั้นเชิงเป็นที่ประทับใจของคนทั้งโลกการฝึกมวยโบราณ แบ่งเป็น ๓ ขั้นตอน
- เบื้องต้น ฝึกให้รู้จักป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยก่อนที่จะคิดทำผู้อื่น เรียกว่า ป้อง ปัด ปิด เปิด
- ขั้นกลาง ฝึกเพื่อเป็นนักมวยต่อสู่บนสังเวียน คือ เข้ามวยเป็น สามารถตอบโต้แก้กลับคู่ต่อสู้ได้ เรียกว่า ทุ่ม ทับ จัก หัก (ควักนัยน์ตา)
- ขั้นสูง ฝึกเพื่อเป็นนักรบ เป็นครูอาจารย์ไว้ใช้ในราชการสงคราม ประจำกองทนายเลือกและกองอาจารย์ เป็นจารบุรุษ อาทมาฏ สอดแนม ทหารเอก ทหารรอง นายกอง แม่ทัพ คือเรียนวิชาฆ่าคน (สงวนไว้ไม่สอนพร่าเพรื่อ) เรียกว่าประกบ ประกับ จับรั้ง เข้าข้างหลังหักก้านคอ
ตำรับมวยไทย 5 ตำรับมวยไทย
มวยไทยนั้นมีหลักการพื้นฐานเดียวกัน คือ การใช้หมัด เท้า เข่า ศอก และศีรษะ ก่อเกิดกระบวนท่าทางต่าง ๆ นับร้อย ๆ กระบวนท่า โดยในแต่ละท้องที่ได้พัฒนาความสามารถและความถนัดในเชิงมวยที่แตกต่างกัน ซึ่งสะท้อนออกมาในลักษณะของความชำนาญในเชิงมวยและเทคนิควิธี โดยเฉพาะการคาดเชือกมีการเปรียบเปรยความสามารถเชิงมวยของท้องถิ่นต่างๆ ว่า “หมัดหนัก โคราช ฉลาดลพบุรี ท่าดีไชยา ไวกว่าท่าเสา ครบเครื่องพลศึกษา”
- มวยลพบุรี เป็นมวยที่ชกฉลาด รุกรับคล่องแคล่วว่องไว ต่อยหมัดตรงได้แม่นยำ เรียกว่ามวยเกี้ยว หมายถึงมวยที่ใช้ชั้นเชิงเข้าทำคู่ต่อสู้โดยใช้กลลวงมากมาย เคลื่อนตัวอยู่เสมอ หลอกล่อ หลบหลีกได้ดี สายตาดี รุกรับและออกอาวุธหมัด เท้า เข่า ศอกได้อย่างรวดเร็ว
- มวยโคราช มีการแต่งกาย การคาดเชือก การจดมวย การฝึกซ้อม การร่ายรำ และรูปแบบวิธีการชกที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะการชกหมัดวงกว้างหนักหน่วงเรียกว่า “หมัดเหวี่ยงควาย”
- มวยไชยา เป็นศิลปะมวยประจำถิ่นอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีชื่อเสียงมาแต่ครั้งสมัยรัชการที่ 5 นอกจากการใช้หมัด เท้า เข่า ศอก แล้วยังมีวิชาการต่อสู้เช่น การ “ทุ่ม ทับ จับ หัก” การเรียนการสอนเริ่มตั้งแต่เรียนป้องกันตัว “ป้อง ปัด ปิด เปิด” จากนั้นจึงเรียนลูกไม้มวยไทยต่าง ๆ ต่างจากมวยทั่วไปที่เน้นการโจมตีปรมาจารย์ไชยาที่มีชื่อเสียงคืออาจารย์เขตร ศรียาภัย
- มวยท่าเสา อุตรดิตถ์ มีความโดดเด่นในการจดมวยกว้างและให้น้ำหนักตัวไปทางด้านหลัง เท้าหน้า สัมผัสพื้นเบาๆ ทำให้ออกมวยได้ไกล รวดเร็วและรุนแรง หมัดหน้าห่างจากหน้าสูงกว่าไหล่ หมัดหลังจะต่ำ และอีกมวยหนึ่งในสายของพระยาพิชัยดาบหักนั้น เป็นทั้งมวยอ่อนและแข็ง สามารถรุกรับตามสถานการณ์ รู้วิธีรับก่อนรุก เรียนแก้ก่อนผูก เรียนรู้จุดอ่อนจุดแข็งของตนเองและคู่ต่อสู้
- มวยพลศึกษา เป็นมวยที่ฝึกมาจากสายอื่น ๆ บ้างแล้ว เมื่อมาเรียนต่อที่สถาบันการพลศึกษา ได้เรียนรู้กลยุทธ์เพิ่มเติมโดยมีอาจารย์กิมเส็ง ทวีสิทธิ์ ปรมาจารย์มวยที่มีชื่อเสียง มีความเชี่ยวชาญหมัดซึ่งศึกษามาจากหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกุล ซึ่งได้ทรงศึกษาการชกมวยสากลของประเทศไทย จนได้ชื่อว่าเป็นบิดามวยสากลของประเทศไทย นอกจากหมัดแล้วยังเน้นความเร็ว จังหวะเข้า – ออก อย่างแคล่วคล่องว่องไว เรียกได้ว่ามวยพลศึกษาเป็นมวยครบเครื่อง
เครื่องรางของขลัง มวยไทย
- เครื่องรางของขลัง หมายถึง วัตถุมงคลที่ใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของนักมวย สามารถป้องกันอันตรายได้ ซึ่งนักมวยเชื่อว่าจะทำให้อยู่ยงคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด มหาอุด คุ้มกำลัง มีมงคลสำหรับสวมศีรษะและประเจียดผูกติดกับต้นแขน ทำด้วยสายสิญจน์หรือผ้าดิบที่เกจิอาจารย์เป็นผู้เขียนอักขระหัวใจมนต์ คาถา และเลขยันต์ แล้วถักหรือม้วนพันด้วยด้ายหรือสายสิญจน์ ห่อหุ้มด้วยผ้าซึ่งผ่านพิธีกรรมจากครูบาอาจารย์ อิทธิฤทธิ์ ความศักดิ์สิทธิ์แห่งพิธีกรรม อำนาจของไสยเวทย์
- มงคล คือ เครื่องผูกศีรษะ และมงคลสูงสุดของนักมวย หมายถึง ความมีลาภ เคราะห์ดี ความสุข ความระมัดระวัง ถือเป็นความศักดิ์สิทธิ์ เป็นของสูง เป็นเครื่องรางของขลังที่สามารถป้องกันภัยให้กับนักมวยได้ มงคลมักทำจากด้ายหรือเชือกหรือผ้าดิบหลายชิ้นที่ลงอักขระ หัวใจมนตรา คาถา อาคม และเลขยันต์กำกับ นำมาถักและขึ้นรูปเป็นวงกลมให้กระชับศีรษะ
- ประเจียด คือ เครื่องผูกแขน เป็นเครื่องรางของขลังอีกอย่างหนึ่งของนักมวย เชื่อกันว่าเป็นเครื่องรางที่คุ้มกันตัวนักมวยไทย ทำด้วยเชือกหรือผ้าลงเลขยันต์และอักขระมนตรา ส่วนมากทำจากผ้าดิบสีแดง ใช้ผูกที่ต้นแขนหรือคล้องคอก็ได้
กระบวนท่ามวยไทย
แม่ไม้มวยไทย
แม่ไม้มวยไทย หรือ ไม้มวย คือ การผสมผสานการใช้อาวุธ หมัด เท้า เข่า ศอก เพื่อการรุกหรือรับในการต่อสู้ของมวยไทย การจะใช้ศิลปะแม่ไม้มวยไทยได้อย่างชำนาญจะต้องผ่านการฝึกฝนเบื้องต้นในการใช้หมัด เท้า เข่า ศอก ให้คล่องแคล่ว จากนั้นจึงหัดใช้ผสมผสานกันไปทั้ง หมัด เท้า เข่า ศอก และการหลบหลีก ได้มีการคิดดัดแปลง พลิกแพลงเพื่อนำไปใช้แล้วตั้งชื่อท่ามวยนั้นๆ ตามลักษณะท่าทางที่จดจำง่าย เมื่อมีท่ามวยมากขึ้นจึงจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ ตั้งชื่อให้คล้องจองกันเพื่อจะได้ท่องจำกอปรกับการชกมวยไทยในอดีตนั้นมักจะชกกันด้วยมือเปล่าหรือมีผ้าดิบพันมือจึงสามารถใช้มือจับคู่ต่อสู้เพื่อทุ่ม หัก หรือบิดได้ นักมวยจึงสามารถใช้ชั้นเชิงในการต่อสู้มากกว่าการใช้กำลัง
ท่าแม่ไม้มวยไทยที่ครูบาอาจารย์ในแต่ละสำนักได้คิดค้นขึ้น แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่มีความรอบรู้ทั้งด้านศาสตร์และศิลป์ กล่าวคือ ด้านศาสตร์ รู้ถึงจุดอ่อน จุดแข็งของร่างกายที่จะพิชิตและเอาชนะคู่ต่อสู้ ด้านศิลป์ คือ ลักษณะการใช้นวอาวุธ ที่มีรายละเอียดปลีกย่อยอย่างพิสดาร
นับแต่โบราณมาครูมวยแต่ละสำนักได้แบ่งประเภทของแม่ไม้มวยไทยไว้ต่างกัน บางท่าแม้จะมีชื่อเรียกเหมือนกันแต่ก็อาจมีท่วงท่าแตกต่างกัน ไม้มวยไทยที่กล่าวถึงในตำรามวยไทยแบ่งออกตามลักษณะการแก้ทางมวยและการจู่โจมเรียกว่า กลมวย แบ่งตามลักษณะการใช้หมัด เท้า เข่า ศอก เรียกว่า เชิงมวย บางตำราแบ่งเป็น แม่ไม้ ลูกไม้ หรือแบ่งเป็น ไม้ครู ไม้เกร็ด ซึ่งไม้ครูหมายถึงไม้สำคัญที่เน้นให้ลูกศิษย์ต้องปฏิบัติให้ชำนาญ และเมื่อชำนาญแล้วสามารถแตกไม้ครูแต่ละแบบออกเป็นไม้เกร็ดได้อีกมากมาย ไม้ครูที่ในปัจจุบันได้รับการยกย่องมีอยู่ 15 กระบวนท่าด้วยกันเรียกว่า แม่ไม้มวยไทย มีชื่อคล้องจองกัน
1. สลับฟันปลา – กลไม้นี้เป็นไม้ครูเบื้องต้นของการหลบออกวงนอกเพื่อจะได้ใช้อาวุธเข้าไม้อื่นต่อไป
2. ปักษาแหวกรัง – กลมวยไม้นี้เป็นไม้ครูของการเข้าสู่วงใน เพื่อใช้ลูกไม้ต่าง ๆ ต่อไป
3. ชวาซัดหอก – กลมวยไม้นี้ใช้เป็นหลักสำหรับหลบหมัดตรงออกทางวงนอกแล้วโต้ตอบด้วยศอก
4. อิเหนาแทงกริช – ไม้นี้เป็นหลักใช้รับหมัดชกตรงด้วยการใช้ศอกเข้าคลุกวงใน
5. ยอเขาพระสุเมรุ – ไม้นี้ใช้รับหมัดตรงในลักษณะก้มตัวเข้าวงในให้หมัดผ่านศีรษะไป แล้วต่อยปลายคางด้วยหมัด
6. ตาเถรค้ำฟัก – ไม้นี้ใช้ป้องกันหมัด โดยใช้แขนเปิดขึ้นปัดหมัดที่ชกมาแล้วต่อยหมัดสวนที่ปลายคาง
7. มอญยันหลัก – ไม้นี้เป็นไม้รับหมัดด้วยการใช้เท้ายันหรือถีบเข้าที่ยอดอกหรือท้อง
8. ปักลูกทอย – ไม้นี้ใช้รับการเตะเฉียง โดยใช้ศอกกระแทกเข้าที่หน้าแข้ง
9. จระเข้ฟาดหาง – ไม้นี้ใช้สันเท้าฟาดหลัง เมื่อคู่ต่อสู้ชกมาสุดแรง แล้วเสียหลักเปิดส่วนหลังว่างแล้วให้หมุนตัวเตะด้วยลูกเหวี่ยงส้นเท้าที่ไต อาจทำให้ไตพิการได้
10. หักงวงไอยรา – ไม้นี้ใช้แก้การเตะ โดยตัดกำลังขาด้วยการใช้ศอกกระทุ้งเข้าที่โคนขา
11. นาคาบิดหาง – ไม้นี้ใช้รับการเตะ โดยใช้มือทั้งสองจับปลายเท้าบิด พร้อมทั้งใช้เข่ากระทุ้งเพื่อให้หักหรือเดาะ
12. วิรุฬหกกลับ – ไม้นี้ใช้ป้องกันการเตะ โดยใช้ส้นเท้ากระแทกที่บริเวณโคนขาทำให้เคล็ดจนขาแพลงไป
13. ดับชวาลา – กลมวยไม้นี้ใช้แก้การชกหมัดตรง โดยชกสวนเข้าสู่บริเวณใบหน้าหรือลูกตา
14. ขุนยักษ์จับลิง – กลมวยไม้นี้ใช้ฝึกหัดแบบแรกเรียกว่ารวมไม้ โดยฝ่ายรุกต่อย เตะ ศอก เป็นชุดออกไป ฝ่ายรับก็รับหมัด รับเตะ รับศอก เป็นชุดไปเช่นกัน
15. หักคอเอราวัณ – กลมวยไม้นี้ใช้บุกจู่โจมในขณะที่คู่ต่อสู้เดินมวยเข้าหาแล้วงอเข่าหน้ามากเหมือนบันได ให้เดินขึ้นไปเหยียบแล้วเข่าเหมือนก้าวขึ้นบันได แล้วต่อด้วยตีศอกที่กลางศีรษะ
ลูกไม้มวยไทย
ลูกไม้มวยไทย หมายถึง ท่าของการใช้ศิลปะมวยไทยที่แยกย่อยออกไปจากแม่ไม้ มีลักษณะที่ละเอียดอ่อนมากมายหลายอย่าง ซึ่งผู้ฝึกจะต้องผ่านการฝึกหัดแม่ไม้มวยไทยก่อน จึงจะฝึกลูกไม้ให้ได้ดี บูรพาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิได้จัดแบ่งลูกไม้มวยไทยออกเป็น 15 ลูกไม้
1. เอราวัณเสยงา – ไม้นี้ใช้แก้หมัด โดยใช้การหมุนตัวปัดหมัดและชกสวนออกไปด้วยหมัดเสยปลายคาง
2. บาทาลูบพักตร์ – ไม้นี้ใช้มือปัดหมัดแล้วถีบตรงสวนขึ้นสู่เป้าหมายใบหน้าของคู่ต่อสู้
3. ขุนยักษ์พานาง – ไม้มวยนี้ใช้การสืบเท้าเข้ากอดตัว แล้วขัดขาทุ่มด้วยสะโพก ปัจจุบัน กลมวยไม้นี้ใช้ไม่ได้บนเวที
4. พระรามน้าวศร – กลมวยไม้นี้ใช้รับศอกที่ตีมาจากด้านบน โดยงอขาต่ำลง งอแขน ใช้ท่อนแขนยันศอกไว้ แล้วชกสวน
5. ไกรสรข้ามห้วย – ไม้นี้ใช้แก้เท้าที่เตะมาหมายใบหน้า โดยถีบสวนไปที่เท้าที่ยืนเป็นเท้าหลักของคู่ต่อสู้
6. กวางเหลียวหลัง – กลมวยไม้นี้ใช้จู่โจมด้วยการถีบหรือเตะก่อน แล้วจึงตามด้วยลูกเตะหรือส้นเท้าที่ปลายคางหรือลิ้นปี่
7. หิรันต์ม้วนแผ่นดิน – กลมวยไม้นี้เป็นแม่ไม้ของการศอกกลับหลังในลักษณะหมุนตัวเข้าไปตามอาวุธที่คู่ต่อสู้ใช้มา จะเป็นเข่า หมัด เตะ ใช้ม้วนเข้าศอกกลับหลังได้ทั้งสิ้น
8. นาคมุดบาดาล – กลมวยไม้นี้ใช้ก้มตัวลอดเท้าที่เตะมา แล้วถีบเข้าที่เท้ายืนเป็นหลักให้หงายหลังล้มไป
9. หนุมานถวายแหวน – กลมวยไม้นี้ใช้แก้หมัดหรือเท้าของคู่ต่อสู้ โดยการหมุนตัวเข้าวงใน พุ่งหมัดคู่เสยเข้าที่ปลายคาง
10. ญวนทอดแห – ไม้นี้เป็นไม้แก้ถีบ โดยปัดให้เสียหลักแล้วก้าวออกข้าง เตะสวนเข้าพับในของคู่ต่อสู้
11. ทะแยค้ำเสา – กลมวยไม้นี้ใช้แก้เตะหรือถีบโดยก้มตัวลงถีบเท้าที่เป็นหลักให้หงายหลังล้มไป
12. หงส์ปีกหัก – กลมวยไม้นี้ใช้แก้หมัด โดยสืบเท้าเข้าวงใน ใช้ศอก กระแทกหัวไหล่ให้หลุดหรือเคล็ดได้
13. สักพวงมาลัย – ไม้นี้ใช้เข้าประชิดตัวใช้ศอกเสยหรือศอกกระทุ้งเข้าที่ชายโครงหรือลิ้นปี่
14. เถรกวาดลานวัด – กลมวยไม้นี้ใช้จู่โจมส่วนล่างโดยการเตะตัดขาอย่างรุนแรง สามารถจะทำให้เท้าแพลงและหัวฟาดพื้นได้
15. ฝานลูกบวบ – กลมวยไม้นี้ใช้สืบเท้าเข้าประชิดตัว แล้วตีศอกเฉียงเข้าใบหน้า
ไหว้ครู มวยไทย
การต่อสู้ในเชิงศิลปะมวยไทยตามประเพณีโบราณต้องมีการไหว้ครูเพื่อให้ระลึกถึงครูบาอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา จะได้เป็นสวัสดิมงคลแก่ผู้ที่จะต่อสู้และให้จิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหว
การไหว้ครูนิยมปฏิบัติคู่กับการร่ายรำมวยไทย ทั้งเป็นการสังเกตดูเชิงฝ่ายตรงข้ามโดยปริยาย เป็นการยืดเส้นยืดสายเพื่อคลายความเคร่งเครียดทางจิตใจและกาย ก่อนที่จะต่อสู้กัน
การไหว้ครูและร่ายรำแบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ ตอนที่ 1 ท่านั่ง ตอนที่ 2 ท่ายืนและร่ายรำ
- ตอนที่ 1 ท่านั่ง แบ่งออกเป็น 3 ท่า คือ ท่าเทพนม ท่าปฐม ท่าพรหม
- ตอนที่ 2 ท่ายืนและร่ายรำ คือ ท่าเทพนิมิต ท่านกยูงฟ้อนหาง ท่านารายณ์ขว้างจักร ท่าพยัคฆ์ด้อมกวาง ท่าคุมเชิงครู ท่าดูดัสกร ท่าฟ้อนลองเชิง
การไหว้ครูและการร่ายรำเริ่มต้นด้วยท่าต่างๆดังแผนผังต่อไปนี้
1. ท่าเทพนม พระแม่ธรณี-หน้าอกศีรษะ ท่าปฐม ท่าพรหม เทพนิมิต นารายณ์ขว้างจักร พยัคฆ์ด้อมกวางเมื่อจบท่าพยัคฆ์ด้อมกวาง แล้วร่ายรำต่อไปตามแผนผังต่อไปนี้
- ท่าย่างสามขุม
- ท่าคุมเชิงครู
- ท่าดูดัสกร
- ท่าฟ้อนลองเชิง
ประวัตินายขนมต้ม ประวัติมวยไทย
นายขนมต้ม เกิดวันอังคาร เดือนยี่ ปีมะเมีย พ.ศ. 2293 ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่บ้านกุ่ม (ปัจจุบันคือ ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) บิดาชื่อนายเกิด มารดาชื่อนางอี่ มีพี่น้อง 2 คน คือ
- นางเอื้อง ถูกพม่าฆ่าตายเมื่อเล็ก ๆ
- นายขนมต้ม
นายขนมต้มต้องอยู่วัดตั้งแต่เล็กๆ อายุประมาณ 10 ขวบพ่อแม่ถูกพม่าฆ่าตายหมด และ เริ่มฝึกวิชามวยไทยตั้งแต่เริ่มแตกหนุ่ม จนในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ กรุงศรีอยุธยาต้องเสียแก่พม่าจึงถูกกวาดต้อนไปเมืองพม่า
นายขนมต้มได้สร้างชื่อเสียงให้กับกรุงศรีอยุธยาและชาติไทย โดยอาศัยความสามารถในเชิงหมัดมวย ดังข้อความตอนหนึ่งว่า….ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เรามีนักมวยไทย คือ นายขนมต้ม ออกไปแสดงฝีไม้ลายมือถึงเมืองพม่า การชกมวยของนายขนมต้มนั้น ทางวงการมวยของเราได้ถือเป็น “วันนักมวย” คือ วันที่ 17 มีนาคม ในพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อพระเจ้าอังวะโปรดให้ปฏิสังขรณ์และก่อเสริมพระเจดีย์เกศธาตุในเมืองย่างกุ้งเป็นการใหญ่นั้น ครั้นงานสำเร็จลงในปี พ. ศ. 2317 พอถึงวันฤกษ์งามยามดี คือวันที่ 17 มีนาคม จึงโปรดให้ทำพิธียกฉัตรใหญ่ขึ้นไว้บนยอดเป็นปฐมฤกษ์ แล้วได้ทรงเปิดงานมหกรรมฉลองอย่างมโหฬาร ขุนนางพม่ากราบทูลว่า “นักมวยไทยมีฝีมือยิ่งนัก” พระเจ้าอังวะจึงตรัสสั่งให้เอาตัวนายขยมต้มนักมวยดีมีฝีมือตั้งแต่กรุงเก่ามาถวาย พระเจ้าอังวะได้ให้จัดมวยพม่าเข้ามาเปรียบ (ชก) กับนายขนมต้ม โดยจัดให้ชกต่อหน้าพระที่นั่ง ปรากฏว่าขนมต้มชกชนะพม่าไม่ทันถึงยกก็แพ้ถึงเก้าคนสิบคนก็สู้ไม่ได้ พระเจ้าอังวะทอดพระเนตรยกพระหัตถ์ตบพระอุระตรัสสรรเสริญนายขนมต้มว่า “ไทยมีพิษทั่วตัว แม้มือเปล่าไม่มีอาวุธเลย สู้ได้คนเดียวชนะถึงเก้าคนสิบคน” ฉะนั้นวันมีชัยของนายขนมต้ม คือวันที่ 17 มีนาคม จึงถือเป็นวันเกียรติประวัติของนักมวยไทย
สำหรับชาวพระนครศรีอยุธยา ได้สำนึกในบุญคุณของนายขนมต้มและถือเป็นเกียรติศักดิ์คนดีศรีอยุธยา จึงได้พร้อมใจกันสร้าง “อนุสาวรีย์นายขนมต้ม” ไว้ที่บริเวณสนามกีฬากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นอนุสติเตือนใจและให้ลูกหลานไทยยึดถือเป็นแบบอย่างสืบไป
ประวัติวันมวยไทย กำเนิดวันมวยไทย
ในการสถาปนาวันมวยไทยได้มีการประชุดความคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ เพื่อพิจารณาบรรพบุรุษไทยตั้งแต่พระมหากษัตริย์จนถึงสามัญชน นับจากพ่อขุนรามค าแหงมหาราช สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๒ (สมเด็จพระนเรศวรมหาราช) สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ (สมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาพิชัยดาบหัก และนายขนมต้ม
ทั้งนี้ เมื่อศึกษาพระราชประวัติ พระคุณลักษณะ พระเอกลักษณ์ที่โดดเด่นด้านศิลปะมวยไทยของบรรพบุรุษไทยทั้งหมดแล้ว จึงมีมติให้เลือกวันส าคัญวันใดวันหนึ่งของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ เป็นวันมวยไทย เนื่องด้วยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ เป็นพระมหากษัตริย์ที่โปรดการชกมวยและได้เสด็จไปทรงชกมวยกับสามัญชน นอกจากนี้แล้วยังทรงคิดท่าแม่ไม้ ไม้กลมวยไทยขึ้นมาเป็นแบบฉบับ ที่รู้จักกันในนาม ต ำรำมวยไทยพระเจ้ำเสือ เป็นมรดกตกทอดสืบมาจนถึงปัจจุบัน จึงได้ก าหนดให้ วันเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ เป็นวันมวยไทย
สถาปนาวันมวยไทย หนึ่งในความสำคัญของ ประวัติมวยไทย
มวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวที่สำคัญที่ยิ่งของชนชาติไทย เป็นหนทางหนึ่งที่จะยืนยันและประกาศให้คนทั่วโลกรับรู้ว่า มวยไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนไทยที่มีการพัฒนาควบคู่กับวิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนาน และเพื่ออนุรักษ์ ส่งเริม และเผยแพร่อย่างกว้างขว้างทั้งในและต่างประเทศ
วันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันมวยไทย โดยถือกำเนิดที่สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ (สมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ) เสด็จขึ้นครองราชย์ (๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๒๔๕) ด้วยพระองค์มีพระปรีชาสามารถทางด้านมวยไทยอย่างยิ่ง
นอกจากนี้แล้วยังส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมจัดกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ (สมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ) การส่งเริมคุณค่าของศิลปะมวยไทย การไหว้ครูมวยไทย การเฉลิมฉลองและการแข่งขันต่างๆการยกย่องเชิดชูเกียรติ และการส่งเสริมมวยไทยในต่างประเทศ
Credit : กรมพลศึกษา dpe.go.th
สถาบันอนุรักษ์ศิลปะมวยไทย MUAYTHAIARTDPE